5.4   การประสานผลประโยชน์โดยการรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ

                  การรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและประสานผลประโยชน์ระหว่างประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจให้ประเทศต่าง ๆ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

                   5.4.1  ปัจจัยของการรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ปัจจัยในการรวมกลุ่มมีหลายประการ ดังนี้

                             1)  สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น มีพรมแดนติดต่อกัน

                             2)  ระบบเศรษฐกิจที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน   จึงรวมกลุ่มเพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศภายในกลุ่มมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถทำการแข่งขันกันในระบบเสรีได้

                             3)  ระบบการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกันจะรวมกลุ่มเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกัน

                             4)  ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางสังคม การศึกษา วัฒนธรรมในแต่ละประเทศให้เท่าเทียมกัน

                  5.4.2  รูปแบบการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ

                             1)  การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มี 4 ระดับ คือ

                                           (1)  เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือเขตปลอดภาษี มีการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม แต่จะเก็บภาษีศุลกากรเท่าใดก็ได้กับประเทศนอกกลุ่ม

                                           (2)  สหภาพศุลกากร (Custom Union) ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม และแต่ละประเทศในกลุ่มต้องกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน ในขณะนี้ยังไม่มีการรวมกลุ่มประเทศในระดับนี้

                                           (3)  ตลาดร่วม (Common Market) การควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออกจะถูกยกเลิกให้แก่ประเทศสมาชิก และสามารถเคลื่อนไหวโยกย้ายปัจจัยการผลิตในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี                    

                                           (4) สหภาพเศรษฐกิจ (Economic Union) นอกจากมีลักษณะเหมือนตลาดร่วมแล้วประเทศสมาชิกยังต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียวกัน เช่น กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน นโยบายภาษีอากรและนโยบายประกันสังคมอย่างเดียวกัน ร่วมกันตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเป็นผู้คอยกำหนดนโยบายและวางแผนเศรษฐกิจให้ประเทศสมาชิกยึดถือ การรวมกลุ่มลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยากเพราะมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

                             การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม เช่น สหภาพยุโรป (EU) เขตการค้าเสรีอเมริการเหนือ (NAFTA) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (APEC) เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สมาคมอาเซียน (ASEAN) องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (OPEC) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น

                             2) การรวมกลุ่มการเมืองระหว่างประเทศ    ในอดีตการรวมกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นการรวมกลุ่มเพื่อรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงร่วมกัน เนื่องจากหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดจึงเปลี่ยนไปเป็นความร่วมมือในการประสานผลประโยชน์ในเขตภูมิภาค เพื่อต่อรองกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและพัฒนาภูมิภาคของตน เช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันในเอเซียอาคเนย์ (SEATO) ซึ่งพัฒนาไปเป็นสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาเซียน (ASEAN) การรวมกลุ่มทางการเมืองอื่น ๆ เช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด องค์การสันนิบาตอาหรับ องค์การเอกภาพแอฟริกา เป็นต้น